Toplam Sayfa Görüntüleme Sayısı

13 Eylül 2012 Perşembe

หน่วยที่ 6 การบริหารการจัดการสิ่งแวดล้อมเพื่อพัฒนา สิ่งแวดล้อมแบบผสมผสาน

หลักการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม
แนวความคิดในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม มีดังต่อไปนี้

1. ต้องการให้มีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสำหรับมนุษย์ได้ใช้สอย และพึ่งพิงในการดำรงชีวิต ทั้งโดยปัจจัยสี่ ความสะดวกสบาย และความปลอดภัยของชีวิต หากมีการจัดการที่ถูกต้องในด้านการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะสามารถทำให้การใช้ได้ผลแบบยั่งยืน (Sustained Yield) ตลอดไป

2. การจัดการนั้นมุ่งหวังที่จะให้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ประกอบกันอยู่ภายในระบบให้มีศักยภาพในแบบยั่งยืนถาวรและเป็นไปด้วยความมั่นคง ลักษณะเช่นนี้เป็นความมุ่งหวังที่ก่อให้เกิดความเพิ่มพูนจากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ สต๊อค (Stock) ภายในระบบ ซึ่งความเพิ่มพูนนี้มนุษย์สามารถนำมาใช้ได้อย่างถาวร อนึ่งส่วนเพิ่มพูนเปรียบเสมือนเงินส่วนดอกเบี้ยของเงินต้นจากธนาคารนั่นเอง ดังนั้นถ้านำสิ่งนี้มาใช้ก็ไม่ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนั้นหมดไปหรือร่อยหรอไปได้

3. การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต้องบรรจุแนวทางปฏิบัติในการควบคุมของเสีย (Waste) มิให้เกิดขึ้นภายในระบบสิ่งแวดล้อม เพราะถ้าเกิดปัญหาแล้ว จะทำให้สต๊อคของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมนั้นมีศักยภาพในการผลิตลดลง สุดท้ายอาจต้องเผชิญการขาดแคลนทรัพยากรในอนาคต อีกทั้งอาจมีปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อม ซึ่งเกิดจากกระบวนการผลิต กระบวนการใช้และกระบวนการเปลี่ยนรูปผลิตภัณฑ์ เป็นต้น แนวทางการจัดการนั้นต้องกำหนดแนวทางปฏิบัติการกำจัดไว้อย่างแน่นอน รวมไปถึงการนำของเสียนั้น ๆ มาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนด้วย

4. การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต้องยึดหลักของการอนุรักษ์มาเป็นพื้นฐาน ดังนั้นแนวทางในการดำเนินการจัดการจึงต้องมีการรักษา สงวน ปรับปรุง ซ่อมแซมและพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งที่อยู่ในสภาพที่ดีตาม ธรรมชาติในสภาพที่กำลังมีการใช้และในสภาพที่ทรุดโทรมร่อยหรอเพราะการใช้ที่ผ่านมาด้วย เป็นที่คาดหวังได้ว่าถ้าสามารถดำเนินการดังกล่าวได้แล้ว จะทำให้มีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมใช้สอยชั่วกาลนาน

5. การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นต่อสิ่งใด ระบบใด หรือ ท้องที่ใด มีความต้องการคือ นอกจากจะเกี่ยวข้องกับการใช้ การจัดการของเสีย การเพิ่มศักยภาพในการผลิตของสต็อค และการปรับปรุงซ่อมแซมแล้วยังต้องการให้มีการจัดองค์ประกอบภายในระบบสิ่งแวดล้อม หรือระบบนิเวศให้มีชนิดหรือหลายชนิด (Distribution) ของสิ่งแวดล้อมในระบบ ให้ได้เกณฑ์มาตรฐานธรรมชาติที่ทุก ๆ สิ่งทุกชีวิตในระบบสามารถอยู่ได้อย่างเป็นสุข ทำให้ระบบต่างๆ อยู่ในภาวะสมดุลตามธรรมชาติ

6. การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีความมุ่งหวังอย่างยิ่งที่จะทำให้คุณภาพชีวิตมนุษย์และสิ่งที่เกี่ยวข้องดีขึ้น อนึ่งคุณภาพชีวิตนั้นมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องคือ ปัจจัยทางด้านการศึกษา สภาพเศรษฐกิจ สังคม เชื้อชาติ สภาพทางภูมิศาสตร์ สถานภาพทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในท้องที่และสุดท้ายคือ ความพอใจ แนวทางดำเนินการ จัดการเพื่อให้คุณภาพชีวิตที่ดีนั้นต้องพิจารณาปัจจัยดังกล่าวด้วย ดังนั้นหลักการที่จะนำไปใช้ในการจัดการ จึงต้องดูสถานที่เป็นสำคัญด้วย

Hiç yorum yok:

Yorum Gönder