Toplam Sayfa Görüntüleme Sayısı

12 Temmuz 2012 Perşembe

ความสำคัญของการจัดการทรัพยากรมนุษย์

                          ในการบริหารองค์กร มนุษย์นับเป็นทรัพยากรสำคัญที่จำเป็นและต้องใช้ทรัพยากรมนุษย์จำนวนมากในหลากหลายหน้าที่  เพราะทรัพยากรมนุษย์จะเป็นผู้สร้างสรรค์งานบริการและเป็นผู้ให้บริการด้านสุขภาพ ที่เน้นคุณภาพ มาตรฐาน ความปลอดภัย และคุณธรรมจริยธรรม ซึ่งการที่จะได้มาซึ่งทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ การพัฒนาและการรักษาทรัพยากรมนุษย์ให้ทำงานให้กับองค์การอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ตลอดจนการออกจากองค์การไปด้วยดีนั้น ล้วนต้องอาศัยการจัดการทรัพยากรมนุษย์ที่ดี ดังนั้น การจัดการทรัพยากรมนุษย์มีความสำคัญกับการบริหารองค์การ ดังต่อไปนี้คือ                                    
     1. ทำให้มีบุคลากรทำงานที่เพียงพอและต่อเนื่อง เนื่องจากการจัดการทรัพยากรมนุษย์ที่ดีจะต้องมีการวางแผนทรัพยากรมนุษย์ โดยมีการทำนายความต้องการทรัพยากรมนุษย์ในอนาคต ซึ่งต้องสัมพันธ์กับทิศทางและแผนงานขององค์การ ตลอดจนกิจกรรมขององค์การที่คาดว่าจะมีในอนาคต นอกจากนี้ ยังต้องคำนึงถึงตลาดแรงงานของทรัพยากรมนุษย์ เพื่อที่จะคาดการณ์ได้ว่าองค์การมีความต้องการทรัพยากรมนุษย์ประเภทใด จำนวนเท่าใด เมื่อใด ทำให้สามารถวางแผนการรับคนเข้าทำงาน การฝึกอบรมและพัฒนา และการหาทรัพยากรอื่นมาทดแทนถ้าจำเป็น ซึ่งจะส่งผลให้องค์การมีบุคลากรทำงานอย่างเพียงพอตามความจำเป็น และมีบุคลากรที่ทำงานในหน้าที่ต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับการขยายหรือหดตัวของธุรกิจขององค์การ ส่งผลให้องค์การสามารถดำเนินงานไปได้ตามทิศทางและบรรลุเป้าหมายที่ต้องการ   
     2. ทำให้ได้คนดีและมีความสามารถเข้ามาทำงานในองค์การ การจัดการทรัพยากรมนุษย์ที่ดีจะนำมาสู่กระบวนการสรรหา คัดเลือกและบรรจุแต่งตั้งบุคคลที่เป็นคนดีและมีความสามารถสอดคล้องกับความต้องการขององค์การ                                     
     3. ทำให้มีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การฝึกอบรมและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์นับเป็นบทบาทหนึ่งของการจัดการทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งการฝึกอบรมและพัฒนาจะเกี่ยวข้องกับคนที่ทำงานในองค์การ ทั้งคนที่รับเข้ามาทำงานใหม่และคนที่ทำงานอยู่เดิม เพื่อเพิ่มศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์เหล่านี้ให้ทำงานได้ ทำงานเป็น ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และทำงานได้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยต่าง ๆ ในการบริหารองค์การ                                     
     4. ทำให้มีการบริหารค่าตอบแทนและสวัสดิการแก่บุคลากรอย่างเหมาะสม การจัดการทรัพยากรมนุษย์ที่ดีจะทำให้เกิดการพิจารณาเรื่องค่าตอบแทนและสวัสดิการที่เหมาะสมกับการดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพ เป็นการดึงดูดและรักษาคนให้คงอยู่กับองค์การ มีขวัญและกำลังใจในการทำงานให้กับองค์การ                                      
     5. ทำให้เกิดการป้องกันและแก้ไขพฤติกรรมที่เบี่ยงเบนของบุคลากร ในการจัดการทรัพยากรมนุษย์จะมีการวางกฎระเบียบด้านวินัยของบุคลากรหรือคนทำงานให้เป็นไปตามสภาพลักษณะงานและวัตถุประสงค์ขององค์การ                                       
     6. ทำให้เกิดการประเมินผลงานของบุคลากรที่เหมาะสมและสนับสนุนคนทำงานดี การจัดการทรัพยากรมนุษย์ที่มีการกำหนดกระบวนการประเมินผลงานของบุคคลากรที่ดีและเป็นธรรม จะส่งผลให้มีการให้รางวัล การเลื่อนตำแหน่งแก่ผู้ที่ปฏิบัติงานดี และการลงโทษผู้ที่ปฏิบัติงานไม่ดีและก่อให้เกิดความเสียหายแก่องค์การ  อันเป็นการสร้างแรงจูงใจบุคลากรให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล                                      
     7. ทำให้เกิดความสัมพันธ์อันดีระหว่างคนทำงานด้วยกันและคนทำงานกับผู้บริหาร เนื่องจากการจัดการทรัพยากรมนุษย์จะให้ความสำคัญกับการพัฒนาความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคนทำงานด้วยกัน และระหว่างคนทำงานกับผู้บริหารหรือแรงงานสัมพันธ์ เพื่อให้เกิดบรรยากาศที่ดีในการทำงาน และเป็นการลดความขัดแย้งและกรณีพิพาทต่าง ๆ ที่จะส่งผลลบต่อองค์การโดยสรุปแล้ว การจัดการทรัพยากรมนุษย์มีความสำคัญต่อการบริหารองค์การ เพราะต้องใช้มนุษย์เป็นผู้ให้บริการที่สำคัญ ซึ่งการจัดการทรัพยากรมนุษย์จะช่วยให้มีคนทำงานที่เพียงพอและต่อเนื่อง ได้คนดีมีความสามารถมาทำงานที่เหมาะสมกับงาน มีการรักษาคนให้อยู่กับองค์การโดยมีการพัฒนา การให้ค่าตอบแทนและสวัสดิการ และการประเมินผลที่เหมาะสม ตลอดจนการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนทำงาน ซึ่งจะส่งผลให้สามารถใช้ศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์ได้อย่างเหมาะสมในการทำงานให้องค์การบรรลุตามวัตถุประสงค์       



ที่มา: http://mit.pbru.ac.th/knowledge/index.php?option=com_content&view=article&id=77&Itemid=73

การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ

ความหมายและความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ

การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (Natural resources conservation) หมายถึงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติด้วยวิธีการฉลาดเหมาะสม โดยใช้อย่างประหยัด ให้เกิดประโยชน์และเกิดคุณค่ามากที่สุด รวมทั้งการปรับปรุงของเสียให้นำกลับมาใช้ใหม่ เพื่อให้เกิดการสูญเสียน้อยที่สุด(ทวี ทองสว่าง และทัศนีย์ ทองสว่าง, 2523 : 1 )
การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ หมายถึง การรู้จักใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างชาญฉลาดให้เป็นประโยชน์ต่อมหาชนมากที่สุด และใช้เป็นเวลานานที่สุด ทั้งนี้ต้องให้สูญเสียทรัพยากรธรรมชาติโดยเปล่าประโยชน์น้อยที่สุด และจะต้องกระจายการใช้ประโยชน์โดยทั่วถึงกันด้วย (สุรภี โรจน์อารยานนท์ , 2526 : 9)
จากความหมายดังกล่าวของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ จะมีลักษณะของการจัดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติแต่ละประเภทอย่างฉลาด ทรัพยากรธรรมชาติชนิดใดหาอยาก หรือลดจำนวนน้อยลง ถ้านำมาใช้ประโยชน์อาจทำให้เกิดผลเสียหายได้ ในสภาพนี้จะต้องนำหลักของการสงวนมาใช้ และในการใช้อย่างประหยัดและพยายามเพิ่มปริมาณให้เพียงพอก่อนที่จะนำไปใช้ในอนาคตสิ่งที่สำคัญ คือ ควรหาวิธีการที่จะทำให้มีทรัพยากรธรรมชาติไว้ใช้ตลอดไป

ที่มาhttp://www.rmuti.ac.th/user/thanyaphak/Web%20EMR/Web%20IS%20Environment%20gr.3/page14_tem.htm

ความสำคัญของการบริหารงานบุคคลในอนาคต


การบริหารงานบุคคลนับได้ว่าเป็นเรื่องสำคัญดังที่ได้กล่าวมาแล้วในตอนแรก และเป็นเรื่องราว ที่มีเทคนิควิธีการที่จำเป็นต้องศึกษาให้เข้าใจเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการให้ได้ผลในแง่ของประสิทธิภาพของการใช้พนักงานในทางการผลิตความสำคัญของงานด้านการบริหารงานบุคคลในองค์การ ในปัจจุบันนับว่าได้มีขอบเขตที่กว้างขวางและมีความหมายที่มีคุณค่ามากกว่าแต่ก่อน จนกระทั่งได้มีการใช้ชื่อใหม่ที่มีความหมายกว้างและลึกซึ้งกว่าว่าเป็นเรื่องราวทางด้านการจัดการที่เกี่ยวกับทรัพยากร มนุษย์ (Human Resource Management) ๆซึ่งมีความพยายามที่จะให้ตระหนักถึงความสำคัญและ ความจำเป็นที่จะสนใจปัจจัยทางด้านทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งเป็นปัจจัยที่มีคุณค่าที่สุดทางการผลิตและ ในการดำเนินงานของค์การ ซึ่งมีผลต่อสังคมและมนุษย์ในสังคมที่จะอยู่ดีกินดียิ่งขึ้น การจัดการทรัพยากรมนุษย์นับว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับทุกฝ่าย ซึ่งนอกจากจะมุ่งเน้นว่าองค์การจำเป็นจะต้องมีผู้บริหารงาน บุคคลที่เป็นผู้ชำนาญการทางด้านเทคนิคเข้ามาดำเนินการแล้ว ความสำคัญที่ยิ่งยวดกว่าและมีผลเท่าทวีกว่านั้นก็คือความรู้จักและรับผิดชอบของหัวหน้างานหรือผู้บริหารในฝ่ายปฏิบัติทุกคนที่นอกเหนือ ไปกว่าผู้ชำนาญการด้านบุคคลที่จะต้องเข้าใจวิธีการจัดการทรัพยากรมนุษย์ให้ถูกต้อง ผลรวมที่จะได้ จากการจัดการทรัพยากรมนุษย์ในความหมายของการบริหารงานบุคคลที่ถูกต้อง จึงจะปรากฏเห็นได้ อย่างแท้จริง ดังนั้นการบริหารงานบุคคลในสมัยปัจจุบัน จึงมิได้หมายความถึงการเป็นหน้าที่ของการเป็นผู้ชำนาญการด้านการบริหารงานบุคคลหรือฝ่ายการพนักงานเท่านั้น หากแต่เป็นเรื่องเกี่ยวพันกัน
ที่ผลลัพธ์ที่ได้จากการปฏิบัติย่อมอยู่ที่นํ้าหนักความสำคัญของ Line Manager หรือผู้บริหารในทางปฏิบัติทุกคนที่ต้องมุ่งปฏิบัติเรื่องนี้ให้ได้ผลมากที่สุดเท่าที่พึงจะทำได้

แนวโน้มของวิวัฒนาการการเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้นับว่าปรากฎชัดแจ้งขึ้นในสังคมปัจจุบัน ทั้งนี้เพราะปัญหาอันสืบเนื่องมาจากกรณีต่าง ๆ ที่ได้เกิดขึ้นในภาวะแวดล้อมซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย ดังจะสรุปเป็นปัจจัยสำคัญเป็นข้อ ๆ ดังนี้ คือ
1.  ประเภทแรงงานที่เปลี่ยนแปลงไป นั่นคือแรงงานในปัจจุบันถ้าหากพิจารณาให้ถ่องแท้จะเห็นว่าประกอบด้วยแรงงานสตรีเป็นจำนวนมาก รวมตลอดจนถึงปัญหาแรงงานที่เป็นวัยเด็กต่าง ๆ ซึ่งนั่นย่อมหมายถึงการมีลักษณะประเภทของพนักงานที่จะต้องบริหารให้ถูกต้องเพื่อให้เกิดผลดีในการทำงาน ตลอดจนคุณภาพของผลผลิตพร้อม ๆ กับชีวิตความเป็นอยู่และคุณภาพของคนงานด้วย ปัญหาส่วนใหญ่ที่มุ่งเน้นและแก้ไขก็คือการพยายามจัดให้มีการพัฒนาองค์การเพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงทัศนคติทั้งหญิงและชายเพื่อจะให้มีโอกาสในการก้าวหน้า ในทางปฏิบัติในบางครั้งการจัดสถานที่ดูแลบุตร หรือการให้สวัสดิการด้านโรงเรียน ก็เป็นสิ่งช่วยลดความตึงเครียดของทั้งสามีและภรรยาที่เกี่ยวกับการดูแลเด็กอ่อนก่อนวัยเรียน
2.  คุณภาพของชีวิตของผู้ใช้แรงงานที่เปลี่ยนแปลงไป จะเห็นได้ว่า คุณภาพของชีวิตในปัจจุบันได้ถูกบั่นทอนลงหลายประการ อันสืบเนื่องมาจากปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคม เช่น เงินเฟ้อ สภาพแวดล้อมเป็นพิษ การมีประชากรหนาแน่นเกินไป การมีอาชญากรรมตลอดจนความตึงเครียดและความวุ่นวายสับสนของชีวิตสมัยใหม่ ซึ่งล้วนแต่เป็นปัญหาขององค์การซึ่งจำเป็นที่จะต้องแก้ไขเพื่อให้ปัญหาลุล่วงไปด้วยดี ฝ่ายจัดการจึงต้องมุ่งพยายามที่จะหาวิธีที่จะลดความสับสนวุ่นวาย เท่าที่จะทำได้ เพื่อจะให้ความเป็นอยู่ดีขึ้น อาจจะกล่าวได้ว่าในสังคมไทยนั้นด้วยภาวะเศรษฐกิจ ที่ตกตํ่าที่ค่าจ้างแรงงานที่ตํ่ามาก และการถีบตัวของภาวะการครองชีพนับเป็นความล้มเหลวของโครงการเศรษฐกิจที่ได้มีส่วนทำลายให้ชีวิตความเป็นอยู่มีมาตรฐานตํ่าและเลวลงกว่าเดิมเป็นอันมาก ซึ่งการทำงานของภรรยาในการช่วยหารายได้ช่วยเหลือครอบครัว ได้มีภารกิจที่เท่าเทียมกับสามีเพื่อระดับของการอยู่รอดขั้นตํ่า ซึ่งส่งผลกระทบให้ชีวิตครอบครัวเป็นชีวิตที่แตกกระจายที่ไม่มีการดูแล กัน อันเป็นผลทำให้ขาดความอบอุ่น ซึ่งกระทบต่อการอบรม และการให้ความอบอุ่นแก่บุตรหลาน และบางครั้งก็อาจเลวลงกว่านั้น แม้แต่เด็กที่เป็นสมาชิกของครอบครัวก็ต้องออกมุ่งหางานทำด้วย แนวความคิดเรื่องค่าจ้างขั้นตํ่าย่อมเป็นพื้นฐานที่ควรจะได้รับการวิเคราะห์จากข้อเท็จจริงตลอดเวลา สภาพของการทำงานตลอดจนวิธีการสัญจรไปมา เรื่องจราจรติดขัดก็เป็นปัญหาอย่างยิ่งที่ทำให้บั่นทอนชั่วโมงของการที่จะได้มีการพักผ่อนให้ต้องอยู่ในภาวะตึงเครียด จนกระทั่งไม่มีเวลาแม้แต่จะพักผ่อนในขั้นตํ่าหรือการมีโอกาสจัดหาจัดเตรียมอาหารภายในบ้าน นอกจากนี้สำหรับผู้มีรายได้ตํ่าหรือ มีภารกิจความรับผิดชอบที่สูง การทำล่วงเวลาเกินเหตุผลก็เป็นส่วนหนึ่งทำให้ชิวิตความเป็นอยู่ของสังคมเลวลง ปัญหาเรื่องของการบริหารพนักงานที่มีประสิทธิภาพจะต้องมีมาตรการพิเศษที่ได้มีการแก้ไขปรับปรุงตลอดเวลา เช่น การให้โอกาสโยกย้ายไปทำงานในแหล่งสาขาที่ใกล้บ้าน จัดสิ่งอำนวยความสะดวกบางประการ การช่วยลดภาระโดยการให้มีโรงเรียนของแหล่งของผู้อาศัยที่จัดเป็นกลุ่มก้อน ตลอดจนแม้แต่การให้ค่าจ้างเพิ่มและช่วยให้มีการฝึกอบรมที่มีประสิทธิภาพในทางการผลิตดีขึ้นให้พร้อมกัน ก็เป็นสิ่งที่นับว่าเขนภารกิจที่ท้าทายความสามารณเละความมีคุณค่าที่แท้จริงของผู้ บริหารบุคคลและผู้บริหารทุกหน่วยงานที่รออยู่แล้ว
3.  ปัญหาด้านการขาดแคลนพลังงาน นับว่าเป็นปัญหาสำคัญที่มีผลกระทบเกี่ยวโยงกับเรื่องการเดินทาง ซึ่งการจัดสวัสดิการ ตลอดจนการให้บริการเดินทางต่าง ๆ นับเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องพิจารณาให้ความอนุเคราะห์
4.  ปัญหาเรื่องเวลาของการทำงาน อาจกล่าวได้ว่าเวลามาตรฐานที่ทำงานทั่วไป 8-9 ชั่วโมงนั้น นับว่าเป็นจำนวนที่เหมาะสม แต่อย่างไรก็ตามในสภาพที่ปัญหาสภาพแวดล้อมภายนอก แก้ไม่ตกนั้น การมีจำนวนชั่วโมงในเวลาสำนักงานที่กำหนดไว้สูงก็มิได้ช่วยมากนักในเรื่องผลผลิต และกลับไม่คุ้มกับการปิดโอกาสแก่พนักงานที่จะได้จัดแจงเรื่องราวทางชีวิตครอบครัว โดยเฉพาะในตอนเย็นระหว่าง 16.30น. ถึง 17.00น. ซึ่งในครึ่งชั่วโมงนี้ หากได้จัดเวลาถูกต้อง การมีโอกาสที่จะจัดเตรียมอาหารในบ้าน และให้มีเวลารับบุตรธิดากลับบ้านก็ย่อมเป็นสิ่งที่ช่วยได้และคุ้มค่ากว่า ใน ต่างประเทศจึงได้มีการพิจารณาแก้ไขสิ่งเหล่านี้เป็นกรณีพิเศษ ที่เรียกว่า Flexitime
และในวงการวิชาการก็มีระบบ Sabbaticals
5.  ว่าด้วยการจ่ายตอบแทน ในเรื่องนี้นับว่าสำคัญที่สุดโดยเฉพาะแบบของการจ่ายตอบแทน ซึ่งโดยปกตินับว่าเป็นต้นทุนที่สำคัญ อย่างไรก็ตามการมีระบบและแบบของการจ่ายที่ถูกต้องนั้น ไม่แน่นอนเสมอไปว่าการที่สูงกว่าจะให้ได้ผลที่สูงกว่า ความถูกต้องย่อมอยู่ที่การดำเนินงานในแง่ต่าง ๆ ที่ควรจะได้มีการพิจารณาจัดขึ้นให้เหมาะสมกับความต้องการของพนักงานทั้งในแง่ผลประโยชน์ตอบแทนและผลประโยชน์อื่น ๆ รวมตลอดถึงการให้บริการช่วยเหลือที่เกี่ยวกับการให้ความมั่นคงและความปลอดภัย
6.  ปัจจัยที่เกี่ยวกับเครื่องจักรสมองกลที่มีผลกระทบ เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการใช้คอมพิวเตอร์เข้าประกอบในการดำเนินธุรกิจในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา นับว่าได้ก้าวหน้าอย่างมากซึ่งคาดหมายต่อไปได้ ว่าจะมีการก้าวหน้าต่อไปอีกในอัตราที่รวดเร็วกว่าวิทยาการด้านนี้ย่อมมีผลกระทบโดยตรงต่อลักษณะของการทำงานของพนักงาน ซึ่งความคิดความเข้าใจตลอดจนการออกแบบงานสำหรับให้เหมาะสมกับคนให้มากยิ่งขึ้น นับเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องดำเนินการในซีกของการพนักงานทั้งในแง่ของการ ให้การอบรมเพิ่มเติมตลอดจนการเพิ่มความรู้ให้กับพนักงานหลายด้านให้กว้างขึ้น เพื่อที่จะได้มีขอบเขตการทำงานในเนื้อหางาน เพื่อแลกกับสิ่งที่เครื่องจักรสมองกลได้เข้ามาช่วยทดแทนแรงงาน
7.  ความเปลี่ยนแปลงในภาวะเศรษฐกิจ การผันผวนขึ้นลงของภาวะเศรษฐกิจได้มีผลกระทบต่อปัญหาแรงงานเป็นอย่างมาก แรงงานในภาคอุตสาหกรรมโดยแท้จริงแล้วเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ในทางการผลิต แต่ในแรงงานทางภาคเกษตรกรรมกับต้นทุนค่าตอบแทนที่มิได้ถูกพิจารณาจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเลย สภาพกลับเป็นไปในรูปของการอยู่รอด และการหาวิธีเอาตัวรอดด้วยตนเอง โดยไม่มีการช่วยเหลือจากฝ่ายใด ดังนั้นการพัฒนาเศรษฐกิจที่ต้องทำให้ได้ผลโดยเฉพาะในการผลิตไม่ว่าในภาคของเกษตรกรรมหรืออุตสาหกรรม ล้วนแต่มีความสำคัญควบคู่ที่จะต้องมีคุณภาพจากการประสาน การบริหารงานบุคคลจากทุกจุดทุกประเภท ทุกขอบเขตของการผลิตทั้งทางเกษตรกรรมที่จะต้องเสริมสนับสนุนขึ้นมาพร้อมกันทั้งประเทศ

การวางแผนทรัพยากรมุนษย์


การวางแผนทรัพยากรบุคคล





การวางแผนทรัพยากรบุคคล คือ กระบวนการที่ใช้คาดการณ์ความต้องการด้านทรัพยากรมนุษย์ขององค์กร อันจะส่งผลถึงการกำหนดวิธีการปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับบุคคลากรและการตอบสนองต่อปัจจัยแวดล้อม ตั้งแต่ก่อนคนเข้าร่วมงานกับองค์กร ขณะปฏิบัติงานอยู่ภายในองค์กร จนกระทั่งเขาต้องพ้นออกจากองค์กร เพื่อให้องค์กรใช้เป็นแนวทางปฏิบัติและเป็นหลักประกันว่าองค์การจะมีคนที่มีคุณภาพอย่างเพียงพออยู่เสมอ ตลอดจนเพื่อให้คนมีคุณภาพชีวิตในการทำงานที่เหมาะสม สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ขององค์กรโดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อประสิทธิภาพ ความมั่นคงและการเจริญเติบโตขององค์กร บุคลากรและสังคม ประกอบไปด้วยส่วนประกอบดังนี้
      กระบวนการ - ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องโดยมีผู้มีหน้าที่วางแผนด้านทรัพยากรบุคคล ต้องทำการเก็บข้อมูล ศึกษา วิเคราะห์ วางแนวทางปฏิบัติตรวจสอบปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงแผนให้เหมาะสมอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่แก้ปัญหาครั้งต่อครั้งแบบเฉพาะหน้า
      การคาดการณ์ - ต้องคาดการไปยังอนาคตถึงความต้องการคนขององค์กรว่ามีแนวโน้มหรือทิศทางที่จะออกมาในลักษณะใด เช่น ขนาดองค์กร หรือกระบวนการทำงานที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งจะทำให้การดำเนินงานด้านทรัพยากรบุคคลมีประสิทธิภาพสูงสุด
      วิธีปฏิบัติ - กำหนดวิธีปฏิบัติเพื่อเป็นแนวทางให้แต่ละกิจกรรมด้านทรัพยากรบุคคล ตั้งแต่สรรหา คัดเลือก ฝึกอบรม ธำรงรักษา จนถึงการเกษียณอายุของบุคลากร เพื่อให้สามารถดำเนินการสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ขององค์กรและกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคมได้อย่างเหมาะสม
      องค์การและบุคลากร - นักบริหารทรัพยากรบุคคลที่มีความสามารถจะต้องสร้างและรักษาสมดุลของทรัพยากรบุคคลภายในองค์กรให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมอยู่ตลอดเวลา การวางแผนทรัพยากรบุคคลจะเป็นเครื่องมือและแนวทางในการสร้างหลักประกันว่าองค์การจะมีคนที่มีคุณภาพตามที่ต้องการมาร่วมงานในปริมาณที่เหมาะสมโดยไม่เกิดสภาวะคนล้นหรือคนขาดแคลนขึ้น
       สรุป การวางแผนทรัพยากรบุคคลคือกระบวนการต่อเนื่องที่ใช้ในการคาดการณ์และกำหนดวิธีการปฏิบัติในกิจกรรมด้านคนเพื่อรักษาสมดุลของคนในองค์การให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมทั่งในระยะสั้นและระยะยาว (โดนยึดถึงปริมาณคนคุณภาพคนและระยะเวลาที่ใช้หา)
 ที่มา:http://www.kruinter.com/show.php?id_quiz=437&p=1